มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

รศ.สีดา สอนศรี ประธานการจัดงาน การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 11 มีปาฐถกถาพิเศษ บรรยายพิเศษจากนักวิชาการทั่วทุกภูมิภาค

หลักการและเหตุผล

        ในปัจจุบันสังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศหรือนัยหนึ่งคือ กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งตัวอย่างของภาวะดังกล่าว เช่น วิกฤตการณ์ถดถอยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบทั่วโลก ภาวะโลกร้อน รวมไปถึงการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของรัฐและตัวแสดงอื่นๆ ในระบบการเมืองระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ ตลอดจน การเข้าสู่สังคมพหุความรู้ ที่ปรากฏภาพของการปะทะประสานกันระหว่างความคิดที่หลากหลายและความเชื่อที่แตกต่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยบีบรัดให้รัฐต่างๆ ต้องมีการปรับตัว
        ประเทศไทยเองก็มีความพยายามที่ปรับตัวด้วยวิธีการที่แตกต่างหลากหลายเพื่อต่อสู้กับความผันผวนที่เกิดขึ้นจากกระแสของโลกาภิวัตน์ดังกล่าวทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค(อาเซียน) และระดับท้องถิ่นเพื่อการต่อสู้กับกระแสโลกาภิวัตน์คือ พยายามในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในท้องถิ่นระดับต่างๆ เพื่อให้ชุมชนเหล่านั้นสามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากโลกาภิวัตน์ได้ด้วยตนเอง นอกจากนั้นวิถีทางดังกล่าวยังเป็นแนวทางหนึ่งในการก่อให้เกิดการพัฒนาสังคมและชุมชนที่ยั่งยืนได้
        อย่างไรก็ดี การส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่การ “อัดฉีด” หรือการเพิ่มการจัดสรรงบประมาณลงสู่ท้องถิ่นอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องรวมไปถึงการสร้างชุมชนทุกระดับตั้งแต่ประเทศจนถึงระดับท้องถิ่นที่กอปรไปด้วยหลักธรรมภิบาล การสร้าง เปลี่ยนแปลงและรักษาวัฒนธรรมต่างๆ ที่ต้องสอดประสานก่อรูปเป็นชุมชนที่สามารถพัฒนาตนเองและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
        ในแง่นี้ ภาระที่ท้าทายของรัฐและระบบราชการ คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายและหลักกฎหมายต่างๆ ในการบริหารประเทศในทุกระดับให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมและวัฒนธรรมได้ โดยไม่สูญเสียสมรรถนะของรัฐต่อการดำรงอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์
        โจทย์สำหรับสังคมไทย คือ “สังคมไทยสามารถสร้างชุมชนที่เข้มแข็งทั้งระดับประเทศจนถึงระดับท้องถิ่นภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้หรือไม่?” คำถามหลักนี้เป็นเป้าหมายทางวิชาการที่ชุมชนวิชาการทางรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์และสาขาวิชาอื่นๆ ในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ 11 ต้องร่วมกันค้นหาคำตอบเพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้และปัญญาให้กับสังคมในการต่อสู้ภายใต้กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง
        วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เปิดการเรียนการสอนทางด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์  ที่มีหลักสูตรครอบคลุมและมีอัตลักษณ์ที่มุ่งเน้นการเป็นขุมปัญญาด้านการเมืองอีสาน การปกครองและการบริหารจัดการท้องถิ่น ทฤษฎีและประเด็นทางการเมืองร่วมสมัย นโยบายสาธารณะ  อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงด้านสิทธิมนุษยชน สันติวิธีและการจัดการความขัดแย้ง ซึ่งสามารถรองรับการประชุมระดับชาติให้บรรลุจุดประสงค์ได

วัตถุประสงค์

          (1) เพื่อเป็นเวทีสำหรับการร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และผลงานทางวิชาการระหว่างภาคีสถาบันอุดมศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิในประเด็นเรื่อง การเมืองของรัฐและท้องถิ่นภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
          (2) เพื่อค้นหาแนวทาง ทิศทางและกระบวนการการศึกษารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ และสาขาวิชาอื่นๆ ที่ครอบคลุมถึงประเด็น    โลกาภิวัตน์ ท้องถิ่น และนโยบาย
          (3) เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างนักวิชาการ และระหว่างนักวิชาการกับชุมชน ท้องถิ่น
ผู้รับผิดชอบ
        วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และองค์กรในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

วัน เวลา และ สถานที่
        อาคารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย
        จ.มหาสารคาม วันพฤหัสบดีที่ 25 - วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
ผู้เข้าร่วมประชุม จำนวนประมาณการ 1,000 คน จากกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
          (1) นักวิชาการทั่วประเทศ เครือข่ายนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ในภาคอีสาน รวมทั้งนักวิชาการสาขาวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
          (2) นิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา
          (3) นักวิชาการอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันหรือองค์กรต่างๆ
แหล่งสนับสนุนงบประมาณ
        คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และองค์กรร่วมจัดอื่นๆ ในระดับชาติ ภูมิภาคและท้องถิ่น

รูปแบบการประชุม

        เป็นการประชุมทางวิชาการเพื่อนำเสนอผลงานทางวิชาการ ผลงานวิจัย การเสวนา การอภิปราย ในประเด็นทางรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และสาขาวิชาอื่นๆ รวมถึงการนำเสนอ   ผลงานวิชาการของนักวิชาการชาวต่างประเทศ
การแสดงปาฐกถาพิเศษนำโดย Keynote Speaker ภายใต้ Theme หลักของงานในหัวข้อเรื่อง
โลกาภิวัตน์ ภูมิภาคนิยมและการเมืองไทย (Globalization, Regionalism and Thai Politics)
        กระแสโลกาภิวัตน์ส่งผลต่อการเมืองในระดับโลกและระดับภูมิภาค ในระดับประเทศไทยต้องแข่งขันกับนานาประเทศและหาลู่ทางในการปรับนโยบายต่างๆให้เข้ากับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะเดียวกันกระแสโลกาภิวัตน์ก็ส่งผลให้ประเทศไทยต้องปรับตัวภายใต้ภูมิภาคนิยมในระดับองค์กร (อาเซียน) ทั้งการเมืองเศรษฐกิจและสังคม และภูมิภาคนิยมในระดับท้องถิ่น ในระดับภูมิภาคนิยมขององค์กรอาเซียนไทยจะต้องปรับตัวให้เข้ากับแนวคิดของสามเสาหลักให้ได้ ในขณะที่ในระดับท้องถิ่นภูมิภาคนิยมก็สร้างปัญหาให้กับการเมืองไทยที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามภาคทำให้สังคมไทยอาจละเลยการพัฒนาภายใต้กรอบอาเซียนโดยส่วนรวม จึงเป็นปัญหาในสังคมไทยว่าจะทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพอยู่ภายใต้โลกาภิวัตน์และภูมิภาคนิยมนี้ได้อย่างไร


การนำเสนอผลงานทางวิชาการ
  1. โลกาภิวัตน์
        กรอบของการศึกษาทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ได้รับผลกระทบอย่างยิ่งจากภาวะ โลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากภาวการณ์ดังกล่าว (โลกาภิวัตน์) ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ที่เป็นไปทั้งในทิศทางแห่งความร่วมมือและความขัดแย้ง หรือแม้กระทั่งนำไปสู่สงคราม และเมื่อความสัมพันธ์ระห่างรัฐเปลี่ยนแปลงไป ระบบกฎหมายที่รองรับความสัมพันธ์ดังกล่าวก็จำต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น การเคลื่อนไหวเพื่อปรับปรุงระบบกฎหมายระหว่างประเทศและการเคลื่อนไหวของตัวแสดงต่างๆ เพื่อให้กฎหมายภายในรัฐใดรัฐหนึ่งมีความสอดรับ กับหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ
        สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างของผลกระทบจากภาวะโลกาภิวัตน์ที่มีต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงวัฒนธรรมทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับรัฐชาติ ระดับภูมิภาคและระดับโลก นอกจากนั้นผลพวงของภาวะโลกาภิวัตน์ยังก่อให้เกิดหรือกระตุ้นให้ “ประเด็นข้ามชาติ” ต่างๆ มีความสลับซับซ้อนมายิ่งขึ้น ซึ่งตัวอย่างของประเด็นข้ามชาติ คือ แรงงานข้ามชาติ คนพลัดถิ่น สิทธิมนุษยชน การก่อการร้าย การเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมระหว่างประเทศ คนชายขอบ เพศสภาพและเพศวิถี เป็นต้น
        จากกรอบข้างต้นนำมาสู่ประเด็นที่ควรมีการถกเถียงอภิปรายในวงการวิชาการภายใต้กรอบ “โลกาภิวัตน์” คือ
          (1) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
          (2) ภูมิภาคนิยมกับทุนไทย
          (3) ประชาคมอาเซียนในปี 2015 : ความร่วมมือและอุปสรรคภูมิภาคนิยมกับทุนไทย
          (4) สิทธิมนุษยชน กับบัญญัติรัฐธรรมนูญไทย
          (5) ระบบกฎหมายระหว่างประเทศและในประเทศที่ต้องปรับตัวเนื่องจากแรงปะทะของภาวะโลกาภิวัตน์
          (6) ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อ (ระบบ) รัฐ ทั้งในแง่ของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม
          (7) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในศตวรรษที่21
          (8) ประเด็นข้ามชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้ภาวะโลกาภิวัตน์ ที่กระทบต่อไทย เช่น แรงงานข้ามชาติ คนพลัดถิ่น การละเมิดสิทธิชุมชน ประเด็น การก่อการร้าย การเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ระหว่างประเทศ ประเด็นเรื่องคนชายขอบ ประเด็นเรื่องกฎหมายกับเพศสภาพและเพศวิถี เป็นต้น
        ภายใต้ประเด็นหลัก 8 หัวข้อ อาจมีประเด็นย่อยหลายหัวข้อ
2. การเมืองของรัฐและท้องถิ่นไทย
        ในระดับท้องถิ่นเองได้มีความพยายามที่จะปรับตัวด้วยวิธีการที่แตกต่างหลากหลายเพื่อต่อสู้กับ
ความผันผวนที่เกิดจากกระแสของโลกาภิวัตน์ดังกล่าว คือ ความพยายามในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐและชุมชนท้องถิ่นในระดับต่างๆ กัน เพื่อให้รัฐและชุมชนเหล่านั้นสามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์
        อนึ่ง “ท้องถิ่น” ไม่เพียงเป็นกระแสของความนิยมในการศึกษาและการวิจัยทั้งทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ตลอดจนสาขาวิชาอื่นๆ เท่านั้น แต่นัยของประเด็นและความเป็นท้องถิ่น ได้เป็นพื้นที่ของการวิเคราะห์ในระดับหน่วยย่อยที่สะท้อนภาพความเข้มแข็งและรากเหง้าของประเด็นปัญหาทางการเมือง สังคมและการบริหารจัดการรัฐสมัยใหม่ ที่ปรากฏชัดในการบรรจุประเด็นเรื่องท้องถิ่นในแผนพัฒนาและการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในรอบหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้แล้ว ยังกล่าวได้ว่าท้องถิ่นยังเป็นแหล่งพลังทางปัญญาและตัวชี้วัดของการพัฒนาในมิติต่างๆ สิ่งเหล่านี้ได้นำไปสู่การให้ความสำคัญกับการสร้างประเด็นทางการศึกษา ข้อถกเถียงและสาระความรู้ที่แสดงออกถึงความก้าวหน้า ความคิดริเริ่มและความน่าสนใจในเรื่องท้องถิ่น ซึ่งนอกจากสาระด้านการเมือง การปกครอง การบริหารจัดการแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน วัฒนธรรม จิตวิญญาณ ศักยภาพและวิถีของชุมชนที่ใช้ในการจัดการด้านต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายกันในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงการประยุกต์และการปรับตัวของท้องถิ่นจากปัจจัยและแรงกดดันจากภายนอก
        จากกรอบข้างต้นนำมาสู่ประเด็นที่ควรเกิดการถกเถียงอภิปรายในวงการวิชาการภายใต้กรอบ “การเมืองของรัฐและท้องถิ่นไทย’’ ได้แก่
          (1) การเมืองไทยรูปแบบใหม่
          (2) บทบาทของสื่อกับการเมืองไทย
          (3) วัฒนธรรมไทยกับรัฐธรรมนูญ
          (4) นิติรัฐกับการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยไทย
          (5) การเมืองของความยุติธรรมและการจัดการความขัดแย้ง
          (6) การเมืองกับการเลือกตั้งในอีสาน
          (7) ปราชญ์ชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นในกระสของการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจและชุมชนฐานราก
          (8) ชุมชนเข้มแข็งภาคอีสานภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
          (9) การปรับตัวของท้องถิ่นและโครงสร้างทางสังคมในระดับต่างๆ
          (10) การปรับบทบาทและพัฒนาการในด้านต่างๆขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลง
          (11) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่รองรับการกระจายอำนาจและส่งเสริมการปกครองตนเอง
          ภายใต้ประเด็นหลัก 11 หัวข้อ อาจมีประเด็นย่อยหลายหัวข้อ
3. นโยบายของรัฐ
        ภาระที่ท้าทายของรัฐและระบบราชการจากประเด็นเรื่องโลกาภิวัตน์และท้องถิ่นภิวัตน์ คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายและหลักกฎหมายในการบริหารประเทศให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคม วัฒนธรรมแต่ละพื้นที่หนึ่งๆ ได้ นอกจากนี้ เมื่อนโยบายสาธารณะ คือ รูปธรรมของผลผลิตทางการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในสังคมทุกระดับ โดยเฉพาะในบริบทสังคมประชาธิปไตยที่กระบวนการนโยบายมีความเกี่ยวข้องกับตัวแสดงทั้งที่มีอำนาจหน้าที่และไม่มีอำนาจหน้าที่ ซึ่งนำมาสู่ประเด็นทางการศึกษาที่แตกแขนงแยกย่อยออกไปได้อย่างมากมาย จากกรอบข้างต้นนำมาสู่ประเด็นที่ควรเกิดการถกเถียงอภิปรายในวงการวิชาการภายใต้กรอบ “นโยบายของรัฐ” คือ
          (1) รัฐธรรมนูญกับกระบวนการนโยบายสาธารณะ
          (2) การบริหารภาครัฐแนวใหม่
          (3) การปรับตัวขององค์กรภาครัฐในการจัดการปกครอง
          (4) นโยบายสาธารณะกับการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอกประเทศ
          (5) การเมืองในกระบวนการนโยบาย
          (6) ประชาธิปไตยกับการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ภายใต้ประเด็นหลัก 6 หัวข้อ อาจมีประเด็นย่อยหลายหัวข้อ
4. อื่นๆ         การถกเถียงอภิปรายในประเด็นเชิงปรัชญาการเมืองและทฤษฎีการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสำรวจตรวจสอบการปรับตัวและการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางปรัชญาการเมืองและทฤษฎีการเมืองกับสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพราะการศึกษาดังกล่าวจะเป็นการสร้างคำอธิบายและการประเมินประสบการณ์ทางสังคมในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆนอกจากนั้นการศึกษาทางปรัชญาการเมืองและทฤษฎีการเมืองทำให้มนุษย์สามารถนำประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมาร้อยเรียงเป็นองค์ความรู้และสามารถนำประสบการณ์เหล่านั้นมาเปรียบเทียบหรือแม้กระทั่งสามารถควบคุมประสบการณ์เหล่านั้นได้
        ในแง่นี้ การทบทวนความรู้และความเข้าใจปรัชญาการเมืองและทฤษฎีการเมืองของสำนักคิดต่างๆ จึงความสำคัญ เนื่องจากการทบทวนดังกล่าวจะเปรียบเสมือนเป็น “การชำระ” องค์ความรู้ที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมมีส่วนช่วยให้เกิดบรรยากาศของการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความรู้ในวงวิชาการ ซึ่งจะก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางปัญญาในสังคมต่อไป
        จากกรอบข้างต้นนำมาสู่การประเด็นต่างๆ ดังนี้
        (1) ปรัชญาการเมืองและทฤษฎีการเมืองร่วมสมัย
        (2) การปรับตัวของปรัชญาการเมืองและทฤษฎีการเมืองในยุคสมัยต่างๆ

การนำเสนอผลงานของนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา

        ด้วยเหตุที่การจัดการเรียนการสอนด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ มีเป็นจำนวนมากประกอบกับจำนวนนิสิตินักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาดังกล่าวมีเป็นจำนวนมาก นำไปสู่การจัดให้มีเวทีสำหรับ การนำเสนอผลงานของนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างประสิทธิ ภาพในการผลิตผลงานทางวิชาการของนิสิตนักศึกษา ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายและเวทีในการนำเสนอผลงานทางวิชาการด้านด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์สำหรับนิสิตนักศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา รวมทั้งคณาจารย์ที่สอนในหลักสูตรดังกล่าว อันเป็นอีกช่องทางที่จะเป็นการการยกระดับมาตรฐานการศึกษาในการให้บุคคลเหล่านี้มีโอกาสได้นำองค์ความรู้ต่างๆ มาเผยแพร่และแลกเปลี่ยนทัศนคติระหว่างกัน รวมถึงจะเป็นการช่วยให้เกิดความตื่นตัวทางวิชาการของนิสิต นักศึกษา ในการที่จะศึกษาด้านด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ อีกด้วย
การแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ของนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี และบุคคลทั่วไป
        กิจกรรมที่มุ่งให้เกิดการสร้างความสนใจของผู้ร่วมงานประชุม ด้วยการจัดกิจกรรมการแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ของนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีและบุคคลทั่วไป ซึ่งการจัดกิจกรรมนี้ถือเป็นการสนับสนุนและพัฒนาความรู้ทางวิชาการด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคณะหรือสาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ

นิทรรศการ
        เป็นการจัดนิทรรศการเพื่อให้ประโยชน์ในการถ่ายทอดความรู้ ประชาสัมพันธ์องค์กรและกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศทางวิชาการ ซึ่งจัดขึ้นภายในอาคารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
          (1) อาเซียนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
          (2) “11 ปีของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย กับ 11 ปีของพัฒนาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ไทย”
          (3) ผลงานของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
          (4) “ชุมชน ท้องถิ่นอีสานกับรากฐานในการพัฒนาประเทศ” โดยความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
          (5) การแนะนำหลักสูตรรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ

การประชุมโต๊ะกลมเครือข่ายคณบดีรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์

        การประชุมและพบปะกันระหว่างคณบดีหรือผู้แทนจากคณะหรือสาขาวิชารัฐศาสตร์ และ รัฐประศาสนศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อทำความรู้จัก รวมทั้งสร้างและพัฒนาแนวทางความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษา รวมไปถึงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างประชาคมวิชาการและวิจัยทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์   ต่อไป


การสมัครเข้าร่วม ประชุม ส่งบทคัดย่อและบทความ
 
      1. การส่งใบสมัครเข้าร่วม
          - แบบ Online ที่เมนูการลงทะเบียนที่เว็บไซต์ http://www.copag.msu.ac.th/undefined/pspa
          - ทางไปรษณีย์ ถึง อาจารย์สิรกุล สุวินทวงศ์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม 44150
          - ทางโทรสารหมายเลข 0-4375-4137
      2. ส่งบทคัดย่อและบทความ ที่ e-mail : copag@msu.ac.th This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it
      3. กำหนดการปิดรับสมัคร
          - สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงาน ภายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2553
          - สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมแต่ไม่นำเสนอผลงาน ภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2553
การเสนอผลงาน
      1. แบบบรรยาย (Oral Presentation)
          - ให้นำเสนอ Microsoft Power Point
          - นำเสนอเป็นภาษาไทย
          - ส่งบทคัดย่อเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษและบทความฉบับเต็ม ส่งภายในวันที่ 30 สิงหาคม 2553

      2. แบบโปสเตอร์ (Poster Presentation) 
          - ให้จัดทำโปสเตอร์กว้าง 80 ซ.ม. x ยาว 100 ซ.ม.
          - ส่งบทคัดย่อเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษและบทความฉบับเต็ม ส่งภายในวันที่ 30 สิงหาคม 2553

รูปแบบบทคัดย่อ
      1. ต้นฉบับบทคัดย่อจัดทำลงกระดาษ ขนาด A4 พิมพ์บทคัดย่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อย่างละไม่เกิน 1 หน้า โดยใช้ตัวอักษร Angsana New 14 (ดาวน์โหลดแบบฟอร์มบทคัดย่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ)
      2. รายละเอียดตามลำดับดังต่อไปนี้
ตั้งค่าหน้ากระดาษ (Page Setup)
  • ขอบบน (Top) 2.54 ซ.ม.
  • ขอบล่าง (Bottom) 2.54 ซ.ม.
  • ขอบซ้าย (Left) 3.17 ซ.ม.
  • ขอบขวา (Right) 3.17 ซ.ม.
      3. ชื่อเรื่อง
            : ภาษาไทย พิมพ์ด้วยอักษรเข้ม Angsana New 16
            : ภาษาอังกฤษ พิมพ์ด้วยอักษรเข้ม Angsana New 16 และตัวนำทุกตัวเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ (Capital Letters)
      4. ชื่อผู้เขียนและผู้ร่วมเขียน/ ผู้วิจัย
            : ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พิมพ์ด้วยอักษรเข้ม Angsana New 14 ใช้สัญลักษณ์ * หลังนามสกุลผู้เขียน และอ้างตำแหน่งทางวิชาการ (ถ้ามี)ไว้ใน Footnote ด้านล่างตัวอักษรเอียง Angsana New 12
      5. ส่วนของเนื้อหา (Angsana New 14)
      6. ชื่อผู้เขียนและผู้ร่วมเขียน/ ผู้วิจัย
            : ภาษาไทยและภาษาอังกฤษพิมพ์ด้วยอักษรเอียง Angsana New 12 และอ้างไว้ใน Footnote โดยใช้สัญลักษณ์ **

      7. คำสำคัญและ Keywords ไม่เกิน 4 คำ (Angsana New 14 อักษรเข้ม)

การส่งบทความเพื่อส่งเป็นเอกสาร
Proceeding ภายหลังการประชุมเสร็จ
        ท่านสามารถส่งต้นฉบับได้ที่โต๊ะลงทะเบียน ภายใต้หัวข้อดังนี้
หน้าปก 
          - ชื่อเรื่อง (ภาษาไทย) (ภาษาอังกฤษ)
          - ชื่อผู้เขียน / ผู้ร่วมเขียน / ผู้วิจัย / ผู้ร่วมวิจัย
          - หน่วยงานที่สังกัด , หมายเลขโทรศัพท์
เนื้อหาสำหรับงานวิจัย 
          - ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
          - วัตถุประสงค์ของการวิจัย
          - วิธีการดำเนินการวิจัย
          - ผลการวิจัย
          - สรุปผลการวิจัย และข้อเสนอแนะ
          - บรรณานุกรม
เนื้อหาสำหรับบทความธรรมดา 
          -ชื่อเรื่อง
          -เนื้อหาบทความ
          -สรุป
          -บรรณานุกรม