มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554

แนวทางการศึกษารัฐศาสตร์ (Approaches in Political Science)

แนวทางการศึกษารัฐศาสตร์ (Approaches in Political Science)

     ด้วยประการที่เป้าหมายหลักของการศึกษารัฐศาสตร์คือ การแสวงหาหนทางหรือการที่จะทำความเข้าใจ (understanding) ถึงที่มาและความเป็นไปของปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในทางการเมือง เพื่อที่จะหาคำอธิบายและคาดการณ์แนวโนม้ของปรากฎการณ์ดังกล่าวในอนาคต ไม่ว่าจะมีการนำความรู้ด้านนี้ไปใช้เพียงใด หรือไม่ และเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตามการที่จะเข้าใจปรากฎการณ์ทางการเมืองได้อย่างชัดเจนนั้น จะต้องอาศัยวิธีการวิเคราะห์เป็นเครื่องมือสำคัญ ทั้งนี้เพราะการวิเคราะห์เป็นการจำแนกสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปรากฎการณ์ ด้วยการชี้ให้เห็นถึงระดับ ประเภทและทิศทางของความสัมพันธ์ที่ดำรงอยู่ในภาวะการณ์หนึ่ง อันทำให้เข้าใจได้ว่าปรากฎการณ์ทางการเมืองนั้นคืออะไร ทำไมจึงเกิดขึ้นและเกิดขึ้นได้อย่างไร 31 หรือกล่าวได้ว่า นักรัฐศาสตร์จะใช้แนวทางการศึกษาวิเคราะห์มาเป็นกรอบความคิด (Conceptual Framework) สำหรับการมองขอบข่าย สาระ และปัญหาของเรื่องรวมหรือปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เขาสนใจ

     ความพยายามที่จะทำความเข้าใจและอธิบายปรากฎการณ์ทางการเมืองนี้ ได้ก่อให้เกิดแนวทางการศึกษาการเมืองหรือรัฐศาสตร์ขึ้นมาอย่างหลากหลาย เริ่มจากแนวทางที่เก่าแก่ที่สุดคือการนำแนวคิดเชิงปรัชญามาใช้พิจารณาและเลือกเป้าหมายทางการเมืองเพื่อเป็นแนวทางการปฏฏิบัติให้เกิดความสัมฤทธ์ผลในเป้าหมายยั้น นอกจากนี้ยังได้แก่ แนวคิดเชิงอำนาจ แนวคิดเรื่องสถาบัน แนวคิดในเรื่องกระบวนการนโยบายสาธารณะ เป็นต้น 32 ซึ่งแต่ละแนวทางก็มีกรอบการมองและวิเคราะห์การเมืองแตกต่างกันลงไปในหลักการและรายละเอียด ดังจะได้กล่าวถึงรายละเอียดต่อไป

     นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักรัฐศาสตร์ทั้งหลายต่างเห็นพ้องกันว่า ในการศึกษารัฐศาสตร็ซึ่งได้มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณนั้น มิได้มีเพียงแนวทางการวิเคราะห์หรือระเบียบวิธีการศึกษาแบบหนึ่งแบบใดที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไป แม้อาจปรากฎว่าแนวทางการศึกษาวิเคราะห์หรือระเบียบวิธีการศึกษาบางอย่างจะได้รักความนิยมในแง่ที่ถูกนำมาใช้เป็นรูปแบบหรือแนวทางในการศึกษากันอย่างกว้างขวาง แล้วแต่ความพยายามของนักรัฐศาสตร์แต่ละยุคแต่ละสมัยที่ต้องการจะทำความเข้าใจการเมืองในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของชีวิตมนุษย์ รวมทั้งการอธิบายและการนำเอาเหตุผล ข้อเท็จจริงไปสรุปเพื่อสร้างรูปแบบและแนวความคิดที่จะนำไปประยุกต์ใช้อธิบายปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น

     แนวทางการศึกษาวิเคราะห์ (approach) หมายความได้ว่า เป็นวิธีการกว้าง ๆ ในการพิจารณาสืบสาวราวเรื่องหรือตรวจสอบในเรื่องการเมือง 33 ซึ่งแตกต่างไปจากระเบียบวิธีการศึกษา (method) ที่หมายความถึงวิถีทางที่คน ๆ หนึ่งใช้ไนการศึกษา ไม่ว่าจะมีนิยามหรือคำจำกัดความ (definition) หรือแนวทางในการวิเคราะห์อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่เป็นระบบหรือไม่ หรือมีการสร้างแบบจำลองหรือตัวแบบ (mode) ของการศึกษาไว้หรือไม่ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี พบว่า นักวิชาการยังมีความเห็นแตกต่างกันไปบ้างเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์ อันเป็นผลมาจากมุมมองหรือทัศนะในการพิจารณาภูมิหลังของรัฐศาสตร์แต่ละแนวทางการศึกษา ซึ่งผู้เขียนได้นำมารวบรวมไว้ และขอทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า คำว่า “แนวทางการศึกษาวิเคราะห์” “แนวทางการศึกษา” “แนวทางการวิเคราะห์” แม้จะแตกต่างกันบ้างในเนื้อความ แต่ก็หมายความถึงประการเดียวกันคือ แนวทางการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์หรือแนวทางการศึกษาวิเคราะห์การเมือง นั่นเอง

     เดวิด อี แอพเตอร์ (David E. Apter) ในหนังสือเรื่อง “Introduction to Political Analysis” ตีพิมพ์ในปี 1977 ได้แบ่งแนวทางการศึกษาวิเคราะห์การเมืองออกเป็น 6 แนวทาง ดังนี้

     1. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์แบบปรัชญาการเมือง (Political Philosophy)

     แนวทางการศึกษาวิเคราะห์แบบนี้ ถือได้ว่าเป็นแนวทางที่เก่าแก่ที่สุด โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากปรัชญาสมัยกรีกโบราณ สาระสำคัญของแนวทางการศึกษาวิเคราะห์แบบนี้เป็นการพิจารณาถึงรูปแบบการปกครองที่ดี มีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งที่จะแสวงหาแนวทางการปรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ให้ใกล้เคียงสอดคล้องกับคุณค่าหรืออุดมคติที่ดีงามตามทัศนะของนักปรัชญาการเมืองโบราณ แนวทางการวิเคราะห์ของนักปรัชญาการเมืองโบราณเช่น เพลโต้ อริสโตเติ้ล เป็นต้น ล้วนแล้วแต่มีส่วนในการเสนอแนะแนวทางในการพิจารณาที่มีผลสืบเนื่องมาสู้นักรัฐศาสตร์ในสมัยปัจจุบันได้แก่ สเตราส์ (Leo Strauss) ที่เห็นว่า กิจกรรมทางการเมืองโดยธรรมชาติเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับค่านิยม

     2. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับรัฐ

     แนวทางการศึกษาวิเคราะห์แบบนี้ เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 จากอิทธิพลแนวคิดของมาเคียเวลลี่ (Machiavelli) ซึ่งมองสภาพความเป็นจริงทางการเมืองและได้สร้างทฤษฎีเกี่ยวกับชนชั้นนักปกครองขึ้นมา ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 แนวทางการศึกษาวิเคราะห์เรื่องรัฐนี้ได้รับการปรับปรุงไปตามบริบทของสังคมโดยเน้นในเรื่องโครงสร้างแห่งกฎเกณฑ์ที่เป็นทางการตามรัฐธรรมนูญ หรือมองรัฐในแง่กฎหมายมากขึ้น โดยเน้นถึงการกำเนิดรัฐและรูปแบบลักษณะของรัฐ

     3. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์เชิงสถาบันการเมืองการปกครอง

     แนวทางแบบนี้ เน้นในเรื่องของที่มาแห่งอำนาจและการแบ่งแยกอำนาจ โดยการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญและรูปแบบการปกครองและสถาบันในการปกครองได้แก่ สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันฝ่ายบริหาร และสถาบันตุลาการ รวมทั้งเน้นไปที่การศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น คาร์ล ฟรีดริช (Carl J. Friedrich) ในหนังสือเรื่อง “Constitutional governent and politics” ตีพิมพ์ในปี 1937 กล่าวว่า แนวทางการวิเคราะห์การเมืองแบบนี้ มักถูกนำไปใช้ในการศึกษาการปกครองเปรียบเทียบ

     4. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับอำนาจ

     แนวทางการศึกษาวิเคราะห์แนวนี้ ได้ให้ความสำคัญของการเมืองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจ อันเป็นการกำหนดการมีส่วนร่วมในเรื่องอำนาจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะที่มนุษย์พยายามไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งอำนาจเพื่อการตัดสินใจ และบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจ และในแนวคิดนี้ รัฐมิใช่โครงสร้างที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์และกฎหมาย แต่เป็นโครงสร้างของกลุ่มต่าง ๆ ที่แข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและเครื่องมือของรัฐ และจะเห็นได้ว่าแนวทางการศึกษาแบบนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกลุ่มผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย กระทั่งช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 แนวการศึกษาวิเคราะห์เชิงอำนาจได้ขยายความสนใจไปศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างบุคคลกับชุมชนมากข้น อันมีส่วนทำให้รัฐศาสตร์เข้าใกล้ชิดกับสังคมศาสตร์มากขึ้นไปโดยปริยาย

     5. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับการตัดสินใจและนโยบายสาธารณะ

     แนวทางการศึกษาวิเคราะห์แนวนี้ มองว่ารัฐศาสตร์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการตัดสินใจและเรื่องนโยบายสาธารณะ ซึ่งได้ก่อรูปขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 จุดสำคัญของแนวการศึกษาวิเคราะห์นี้กล่าวได้ว่าประกอบด้วย การเน้นที่กระบวนการตัดสินตกลงใจ (process of decision-making)และการเน้นที่เนื้อหานโยบาย (policy content)

     ภายหลังปี 1945 เมื่อวิธีการศึกษาเชิงพฤติกรรมศาสตร์ ได้รับความนิยมมากขึ้นในวงการรัฐศาสตร์ ได้มีส่วนผลักดันให้แนวการศึกษาวิเคราะห์ที่เน้นกระบวนการตัดสินตกลงใจในแนวแรก บดบังความสำคัญของการเน้นในเรื่องเนื้อหานโยบาย ซึ่งเป็นความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงประเด็นเรื่องการประเมินค่าและการเสนอแนะนโยบาย และหลีกเลี่ยงประเด็นข้อถกเถียงถึงความเป็นกฎเกณฑ์อันเป็นสากลเชิงศาสตร์ แต่กระนั้นก็ดี การศึกษาเนื้อหานโยบายก็ได้รับความสนใจจากนักรัฐศาสตร์บางส่วนมรามุ่งศึกษาผลลัพธ์ต่อสังคมของนโยบาย (policy outcomes) มากขึ้น

     6. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์เชิงระบบการเมือง

     แนวทางนี้ได้เริ่มใช้กันมาตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1950 โดยเป็นความมุ่งหมายที่จะมองการเมืองให้กว้างไปจากการศึกษาเฉพาะเรื่องของรัฐและเรื่องของสถาบันทางการเมืองการปกครอง ด้วยการพยายามสร้างทฤษฎีไปใช้ในการวิเคราะห์การเมืองได้ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก โดนมุ่งเน้นศึกษาเรื่องกระบวนการทางการเมือง การทำหน้าที่ต่าง ๆ ของระบบการเมือง มากกว่าโครงสร้างหรือสถาบันทางการเมือง

     สนธิ เตชานันท์ ได้จำแนกแนวทางการวิเคราะห์รัฐศาสตร์ไว้เป็น 3 แนวทาง ประกอบด้วย

     1. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์เชิงนโยบาย (policy approach)

     แนวทางการศึกษาวิเคราะห์แบบนี้ พิจารณาการเมืองในแง่กระบวนการกำหนดนโยบาย ด้วยการนำแนวคิดเชิงระบบ (system analysis) มาศึกษา อธิบายรวมทั้งเป็นแนวทางการปรับปรุงกระบวนการนำเข้า (input) ส่วนที่ทำหน้าที่แปลงสิ่งนำเข้า (conversion) ส่วนนำออกจากระบบ (output) และส่วนย้อนกลับ (feedback) โดยมีความมุ่งหมายที่จะทำความเข้าใจและอธิบายการดำเนินการของกระบวนการต่าง ๆ ดังกล่าวจากการสังเกตผลการดำเนินงานเท่าที่จะสามารถกระทำได้ อันเป็นผลให้รัฐศาสตร์ได้รับการพิจารณาว่าเป็นวิชาที่เน้นในเรื่องนโยบายศาสตร์

     2. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์เชิงอำนาจ (power approach)

     แนวทางการศึกษาวิเคราะห์แบบนี้เห็นว่า อำนาจ (power) และการต่อสู้แข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ เป็นแก่นสารัตถะหรือเนื้อแท้ของการเมือง ซึ่งแตกต่างไปจากแนวทางการวิเคราะห์เชิงนโยบายอย่างมาก เนื่องจากมิได้ให้ความสนใจมองว่าการเมืองเป็นกระบวนการที่มีระเบียบแบบแผนตามตัวแบบระบบ (systems model) แต่การเมือง เป็นการต่อสู้แข่งขันและการแสดงออกเชิงอิทธิพลของคนหรือกลุ่มคนที่ครอบงำต่อการทำงานของระบบการเมือง ด้วยเหตุนี้ การศึกษาวิเคราะห์การเมืองแนวนี้ จึงมีสาระสำคัญในการศึกษาถึงประเด็นการได้มาซึ่งอำนาจ การใช้อำนาจ และการคงไว้ซึ่งอำนาจทางการเมืองโดยเชื่อว่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุดในการทำความเข้าใจและอธิบายถึงคงามพ่ายแพ้และชัยชนะทางการเมืองได้

     3. แนวทางการศึกษาวิเคราะห์เชิงศิลธรรมหรือเป้าหมาย (moral and goals approach)

     แนวทางการศึกษาแบบนี้ มิได้ให้ความสนใจต่อกระบวนการของระบบการเมืองและอำนาจทางการเมืองเช่นเดียวกับแนวทาง 2 แนวทางที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่เป็นการพิจารณาถึงทิศทางและเป้าหมายของการเมือง ซึ่งประกอบไปด้วยลักษณะทางศิลธรรม รูปแบบพื้นฐานของความชอบ ความถูกต้อง และความเหมาะสมทางการเมือง ซึ่งก็ต้องพิจารณาถึงข้อจำกัดของขอบเขตอำนาจทางการเมือง อันดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักต่อการทำความเข้าใจ และมักปรากฎว่ามีนักรัฐศาสตร์จำนวนน้อยที่เห็นด้วยกับแนวทางการศึกษาแนวนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์เชิงนโยบายและเชิงอำนาจเช่นที่ได้กล่าวถึงแล้ว

     กล่าวโดยสรุป จากแนวทางในการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า รัฐศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่เก่าแก่ซึ่งเกิดขึ้นมาควบคู่กับสังคมมนุษย์ในยุคสมัยที่เริ่มมีการรวมกลุ่มปกครองตนเองและสังคมอย่างชัดเจน นับย้อนไปได้ถึงยุคกรีกโบราณเมื่อประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว โดยเป็นวิชาที่ศึกษาถึงลักษณะและวัตถุประสงค์และการจัดองค์กรของรัฐ รวมถึงระบบการเมืองการปกครองและสถาบันเกี่ยวกับการเมืองการปกครองโดยได้วิวัฒนาการเชิงลักษณะวิชาผ่านยุคสมัยที่จักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจ เข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ และยุคสมัยใหม่ ดังที่ได้แบ่งยุคการศึกษารัฐศาสตร์ให้เห็นกันไปแล้ว กระนั้น วิวัฒนาการของการศึกษารัฐศาสตร์ดังกล่าว ก็ล้วนแล้วแต่กำเนิดเกิดขึ้นและเป็นไปในบริบทของสังคม และเติบโตไปตามพลังทางเศรษฐกิจการเมืองของสังคมตะวันตก เนื้อหาสาระของแนวทางการศึกษาวิเคราะห์ก็ได้แตกต่างกันไปตามสภาวะการณ์ปัญหาทางการเมืองและสังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัยตามทัศนะของนักคิดนักปรัชญาการเมืองในยุคนั้นเป็นสำคัญ และเนื่องจากแนวทางการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์ที่แตกต่างกันหลากหลายดังกล่าว นักวิชาการรัฐศาสตร์บางรายหรือบางสำนักจึงอาจนิยมชมชอบแนวทางการศึกษาแนวใดแนวหนึ่งเป็นการเฉพาะ ในขณะที่หลายรายอาจนำเอาแนวทางการศึกษาหลายแนวมาผสมผสานกัน ซึ่งได้ส่งผลให้ขอบเขตของการศึกษากว้างขวางออกไป ในบางยุคสมัย แนวทางการศึกษาหนึ่งอาจได้รับความนิยมอย่างโดดเด่น ในขณะที่บางแนวการศึกษาอาจไม่ได้รับการยอมรับและถูกต้องวิพารษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้องเหมาะสมต่อการนำเอามาใช้ในการศึกษาวิเคราะห์ปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ดังเช่น แม้รัฐศาสตร์ยุคใหม่จะนิยมแนวทางการศึกษาแบบประจักษ์นิยมเชิงตรรก (logical positivism) ซึ่งเป็นแนวทางและระเบียบวิธีการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์อย่างหนึ่งที่ไม่มีการตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี หรือปราศจากค่านิยมต่อสิ่งที่ศึกษา ( value-free judgement) และมีความเป็นวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้ความเป็นเหตุเป็นผล (casuality) และความเป็นจริงของสิ่งที่นำมาศึกษา หรือที่เรียกกันว่า “การศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมศาสตร์ (behavioralism)” ที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ในระยะต่อมา ได้มีนักรัฐศาสตร์ยุคใหม่ได้โต้แย้งว่า ท้จริงแล้วรัฐศาสตร์ที่ปราศจากคุณค่าหรือค่านิยม และอคติ อันเป็นสาระสำคัญของการศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมนิยมนั้น หาได้เป็นความจริงแต่อย่างใดไม่ เนื่องจากการเลือกประเด็นที่จะศึกษาก็เป็นการตัดสินใจที่แฝงคุณค่าหรือค่านิยมต่อเรื่องนั้นอยู่แล้ว เช่น การศึกษาพฤติกรรมทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองโดยละเลยที่จะพิจารณา บทบาทของรัฐ นโยบายของรัฐและรูปแบบทางการเมืองการปกครอง ก็ย่อมเป็นข้อสรุปเบื้องต้นอย่างกลาย ๆ อยู่แล้วว่า ผู้ศึกษามองรูปแบบการปกครองของรัฐนั้นว่าเหมาะสมอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องของการแสดงฝักฝ่ายในการศึกษาอยู่นั่นเอง นอกจากนี้ การที่รัฐศาสตร์ล้วนพัวพันกับอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองการปกครองและการแบ่งสรรผลประโยชน์หรือคุณค่าต่าง ๆ ในสังคม ก็ยังป็นสิ่งที่สะท้องให้เห็นว่าความเป็นกลาง (neutrality) และความเป็นศาสตร์ (science) อย่างแท้จริงของรัฐศาสตร์แนวพฤติกรรมนิยมนี้ หาได้เป็นเช่นดังที่ เนวิล จอห์นสัน (Nevil Johnson) กล่าวไว้แต่อย่างใดเลย

     แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันในวงวิชาการรัฐศาสตร์ว่า แนวทางการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์นั้น พอจะแบ่งออกได้เป็น 6 แนวทางใหญ่ ๆ คือ

     1. การศึกษาเรื่องรัฐบทบาทและหน้าที่ของรัฐ

     2. การศึกษาเรื่องสถาบันทางการเมืองและการปกครอง ที่มาแห่งอำนาจ การบ่งสรรอำนาจและรูปแบบการปกครอง

     3. การศึกษาเรื่องอำนาจ ผู้ครอบอำนาจ การใช้อำนาจหน้าที่

     4. การศึกษาเรื่องการตัดสินตกลงใจและนโยบายสาธารณะ

     5. การศึกษาเรื่องพฤติกรรมทางการเมือง ช่น การรวมกลุ่ม การลงคะแนนเสียง และทัศนคติทางการเมือง

     6. การศึกษารัฐศาสตร์โดยพิจารณาถึงปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่เรียกว่า สังคมวิทยาการเมือง (Political Sociology) และ เศรษฐกิจการเมือง (Political economy)

     ระเบียบวิธีการศึกษารัฐศาสตร์ (Methodology in Political Science)

     ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ระเบียบวิธีการศึกษา หมายความถึง วิถีทางที่คน ๆ หนึ่งใช้ในการศึกษา ไม่ว่าจะนิยามหรือคำจำกัดความ หรือแนวทางในการวิเคราะห์ อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่เป็นระบบหรือไม่ มีการสร้างแบบจำลองหรือตัวแบบของการศึกษาไว้หรือไม่ก็ตาม ระเบียบวิธีการศึกษาแต่ละแบบที่มีอยู่ในการศึกษาวิชารัฐศาสตร์นั้น จะเป็นแนวทางที่ช่วยให้นักรัฐศาสตร์สามารถทำความเข้าใจและอธิบายเกี่ยวกับเรื่องการเมืองได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น เกิดความรู้ความเข้าใจที่เที่ยงตรง และเนื่องจากรัฐศาสตร์มิได้กล่าวถึงเพียงแต่เรื่องการเมืองการปกครองประการเดียว แต่ยังหมายความกว้างถึงการศึกษาเกี่ยวกับการแจกแจงคุณค่าในเชิงอำนาจ การบริหารและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของสังคมรัฐศาสตร์นอกจากที่ต้องอาศัยองค์ความรู้เฉพาะแล้ว ยังเป็นการสานความรู้หรือประสมประสานบูรณาการความรู้ในศาสตร์ด้านอื่น อาทิประวัติศาสตร์ เศรษศาสตร์ การจัดการมนุษยวิทยา เป็นต้น ประกอบเข้าไปด้วย ในอันที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจสิ่งที่ศึกษาเรื่องรัฐศาสตร์ที่มีความสลับซับซ้อน เป็นไปอย่างแตกฉานยิ่งขึ้น

     ระเบียบวิธีการศึกษาทางรัฐศาสตร์หากพิจารณาตามนิยามที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ก็กล่าวได้ว่าระเบียบวิธีการศึกษาเกิดขึ้นมาตั้งแต่แรกเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองนั่นเอง เพียงแต่แตกต่างกันไปบ้างตามจุดเน้นของแต่ละวิธี ซึ่งพิจารณาได้จากงานเขียนของ สนธิ เตชานันท์ (2543, 9-17) ซึ่งได้จำแนกไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

     1. แนวทางการศึกษารัฐศาสตร์แบบเก่า (Traditional political science)
     แนวการศึกษาแบบนี้ประกอบไปด้วยระเบียบวิธีการศึกษาหลายแบบ แต่ละแบบก็แตกต่างกันไปบ้าง ดังนี้

     1.1 แบบปรัชญาการเมืองคลาสสิค (Classical political philosophy)แนวทางการวิเคราะห์แบบนี้ถือได้ว่าเป็นวิธีที่เก่าแก่ที่สุด โดยมีลักษณะที่สำคัญคือ การประเมินค่าสิ่งที่นักปรัชญาการเมืองสนใจ ประกอบกับการใช้วิธีการอนุมานหรือคาดคิดเอาด้วยเหตุด้วยผลเท่าที่มีอยู่ว่าการเมืองคืออะไร ระบบการปกครองที่ดีที่สุด ผู้ปกครองที่ดีที่สุดควรจะเป็นอย่างไร ดังที่ได่กล่าวไปแล้วในเรื่องแนวทางการศึกษาวิเคราะห์ปรัชญาการเมือง

     1.2 แบบประวัติศาสตร์ (Historical method)แนวทางการศึกษาแบบนี้ได้เริ่มต้นขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ใน สหรัฐอเมริกาและยังคงใช้กันมากในปัจจุบัน โดยนักรัฐศาสตร์เชื่อกันว่ารัฐศาสตร์มีต้นกำเนิดมาจากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ หรือเป็นวิชาประวัติศาสตร์การเมืองซึ่งรวมตลอดถึงประวัติพรรคการเมือง ประวัติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และประวัติความคิดทางการเมืองที่สำคัญต่าง ๆ และเห็นว่าวิธีการศึกษาแบบนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้สามารถทำความเข้าใจความเป็นจริงของสถาบันการเมืองต่าง ๆ ได้อย่างถ่องแท้

     1.3 แบบกฎหมาย (Legalistic method)แนวทางการศึกษาแบบนี้ถือว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่การศึกษาในเรื่องการเมืองกับกฎหมายหรือระบบกฎหมายมีความเกี่ยวพันกัน และได้กลายเป็นสิ่งที่วางพื้นฐานการศึกษารัฐศาสตร์อเมริกันที่พิจารณาว่า รัฐศาสตร์แท้จริงแล้วคือการศึกษาระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

     1.4 แบบวิเคราะห์สถาบัน (Institutional analysis method)แนวทางการวิเคราะห์แบบนี้เกิดขึ้นจากความตระหนักของนักรัฐศาสตร์ว่าการเมืองเป็นสิ่งที่มากไปกว่าระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเพื่อให้มีการพูดถึงการเมืองตามความเป็นจริงและเพียนงพ่อต่อการทำความเข้าใจรัฐศาสตร์ที่ไม่สามารถหาคำตอบได้จากวิธีการศึกษาแบบกฎหมายและประวัติศาสตร์ การวิเคราะห์สถาบันการเมืองจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้นักรัฐศาสตร์มองเห็นหรือได้ศึกษาเกี่ยวกับความป็นจริงทางการเมืองมากที่สุด แต่อย่างไรก็ดี จุดมุ่งหมายของวิธีการศึกษาแบบนี้มีลักษณะสำคัญของการพรรณารายละเอียดสถาบันทางการเมือง อำนาจ บทบาทและหน้าที่ของประธานาธิบดี ด้วยวิธีการสังเกตที่ไม่ลึกซึ้ง ที่มิใช่การอธิบายระบบการเมือง

     2. ระเบียบวิธีการศึกษาเชิงพฤติกรรมนิยม (Behavioralism)

     ภายหลังที่นักรัฐศาสตร์ได้หันเหความสนใจไปศึกษาการเมืองในเชิงวิเคราะห์มากขึ้น เพื่อจะยกฐานะของวิชารัฐศาสตร์ให้ทัดเทียมกับวิชาสังคมศาสตร์อื่น ๆ พร้อมกับความก้าวหน้าทางระเบียบวิธีการศึกษาหลายอย่างที่อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ ได้ก่อให้การศึกษาวิชารัฐศาสตร์หันเหความสนใจจากเดิมที่เป็นการอนุมานหรือการประเมินค่าสิ่งที่ศึกษาตามความเห็นหรือทัศนะของนักรัฐศาสตร์ เช่นที่นักวิชาการบางท่านเรียกว่าเป็น “การคาดคิดไปตามอำเภอใจ” ซึ่งได้รับการวิพากษ์ถึงความน่าเชื่อถือในแง่ความเป็นศาสตร์ที่สามารถนำมาอธิบายการเมืองได้อย่างกว้างขวางถูกต้อง ได้เป็นสิ่งผลักดันให้รัฐศาสตร์นำเอาเทคนิควิธีศึกษาเชิงศาสตร์อันได้แก่วิธีการเชิงปริมาณ การรวบรวมข้อมูลที่พิสูจน์ได้ สนใจปรากฎการณ์ที่สังเกตได้ การวัดที่มีความถูกต้องแม่นยำ การวิเคราะห์อย่างมีระเบียบวิธีและอ้างอิงทฤษฎี โดยเชื่อว่าทฤษฎีและผลของการค้นพบที่นำไปสู่ข้อสรุป จะช่วยเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญของรัฐศาสตร์ทุกสาขา มาใช้ในการศึกษาวิเคราะห์โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองของมนุษย์ไปด้วย โดยแนวทางการศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมด้านหนึ่งได้แก่การเน้นในการศึกษาพฤติกรรมของผู้ดำเนินการทางการเมืองเป็นสำคัญ ที่มักจะปฏิเสธแนวทางแบบวิเคราะห์สถาบัน ซึ่งนักรัฐศาสตร์บางท่านเช่น เดวิด อีสตัน (David Easton) ได้เรียกร้องให้นักรัฐศาสตร์หันมาสนใจศึกษาเกีย่วกับกิจกรรมทางการเมืองมากกว่าการศึกษาสถาบันทางการเมือง

     3. ระเบียบวิธีการศึกษายุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ (Post-behavioralism)

     วิธีการศึกษาแบบนี้มีที่มาจากการที่นักวิชาการรัฐศาสตร์รุนใหม่ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1960 ไม่ยอมรับระเบียบวิธีการศึกษาแบบพฦติกรรมนิยมที่ยึดมั่นวิธีการทางวิทยาศาสตร์มากเกินไ ป โดยวิภาควิจารณ์หรือกลับเคลื่อนไหวปฎิรูปวิชารัฐศาสตร์หรือเป็นยุคที่เรียกว่า “การปฏิวัติยุคหลังแนวการศึกษาเชิงพฤติกรรม (the Post-behavioralism Revolution)” โดยสาระสำคัญในแนวคิดของนักรัฐศาสตร์กลุ่มนี้คือเห็นว่ายิ่งรัฐศาสตร์ใช้วิธีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับการแยกค่านิยมออกจากการเมืองมากเท่าใด นักรัฐศาสตร์ก็จะยิ่งห่างไกลจากการเมืองมากขึ้นเท่านั้น และจะทำให้นักรัฐศาสตร์มุ่งแต่ความสนใจที่จะศึกษาเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มากกว่าที่จะมองปัญหาสำคัญ ๆ ทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ นักรัฐศาสตร์จึงต้องให้ความสำคัญต่อค่านิยมในการพิจารณาตัดสินเรื่องการเมืองการปกครอง อันแตกต่างไปจากการศึกษาเชิงพฤติกรรมนิยมที่มุ่งแยกส่วนค่านิยมออกจากข้อเท็จจริง

ทฤษฎีการปฏิวัติแนวคลาสสิค (Classical Approach) ของคาร์ล มาร์กซ์

ทฤษฎีการปฏิวัติแนวคลาสสิค (Classical Approach) ของคาร์ล มาร์กซ์

ทฤษฏีว่าด้วยการปฏิวัติของมาร์กซ์อาจกล่าวได้ว่าเป็นทฤษฎีที่ทรงพลังและมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองโดยตรง เนื่องจากทฤษฎีของมาร์กซ์ได้เชื่อมโยงสาเหตุและผลที่ ติดตามมาของการปฏิวัติเข้ากับการก่อกำเนิดขึ้นและความได้เปรียบของลัทธิทุนนิยม อย่างไรก็ตาม วิถีการปฏิบัติของมาร์กซ์จะไม่ค่อยสอดคล้องกับบรรดานักวิชาการร่วมสมัย เพราะมาร์กซ์ไม่ได้มุ่งสร้างทฤษฎีทั่วไป (General theory) ว่าด้วยการปฏิวัติที่สามารถจะนำไปใช้ได้กับทุกสังคมทุกรูปแบบในทุกช่วงเวลา แต่ตรงกันข้าม มาร์กซ์กลับมองว่า การปฏิวัติเป็นปรากฏการณ์เฉพาะรูปแบบที่เกิดขึ้นในสภาวะแวดล้อมทางประวัติศาสตร์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง รวมทั้งรูปแบบสังคมหนึ่งๆ เท่านั้น [1]

ข้อสังเกตในทฤษฎีว่าด้วยการปฏิวัติของมาร์กซ์อีกประการคือ มาร์กซ์ ได้พัฒนาทฤษฎีโครงสร้างทางสังคม (Social-Structural theory) ที่โต้แย้งว่า ความเคลื่อนไหวที่มีการจัดการใดๆเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากการปฏิวัติ จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมี เหตุการณ์ของการปฏิวัติอย่างเป็นรูปธรรม (Objectively revolutionary situation) เกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งในโครงสร้างทางสังคมขนาดใหญ่และสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ ข้อสังเกตอีกประการคือ มาร์กซ์ให้ความสำคัญกับการครอบงำทางชนชั้น (class domination) สำหรับแนวคิดของเขาในส่วนที่ว่าด้วยระเบียบทางสังคม (social order) และความขัดแย้งทาง ชนชั้น (class conflict) ก็ยังถือเป็นหัวใจสำคัญที่กำหนดคุณลักษณะของการปฏิวัติ [2]

ทฤษฎีของมาร์กซ์ในส่วนที่ว่าด้วยการปฏิวัติ ถูกร่างไว้ในผลงานชิ้นสำคัญคือ “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” (The Communist Manifesto) มาร์กซ์บอกไว้ว่า การพัฒนา ผลิตผลในภาคอุตสาหกรรมได้ส่งผลให้ประชากรในสังคมอุตสาหกรรมแบ่งแยกออกเป็นสองชนชั้นหลักๆ คือชนชั้นกระฎุมพี (Bourgeoisie) กับชนชั้นกรรมาชีพ (Proletariat) ส่วนชนชั้นอื่นๆ นั้น จะเป็นชนชั้นที่หลงเหลือมาจากวิถีการผลิต (modes of production) ก่อนหน้าการพัฒนาสู่สังคมอุตสาหกรรม เช่น ชนชั้นชาวนา (Peasants) หรือมาจากช่วงเริ่มแรกของการพัฒนาสังคมสู่ระบอบทุนนิยม เช่น ช่างฝีมือ (craft artisans) หรือเจ้าของร้านค้าขนาดย่อม (small shopkeepers)

กลุ่มชนชั้นเหล่านี้ มีจุดร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพอย่างหนึ่งคือความขัดแย้งกับชนชั้นกระฎุมพีในเรื่องของความพยายามปกป้องหรือพลิกผันพัฒนาการทางเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูสถานะของพวกเขา เนื่องจากชนชั้นเหล่านี้ถูกทำลายลงด้วยกระบวนการแข่งขันและการทำงานในระบอบทุนนิยม ทั้งการถูกบังคับให้ต้องสละซึ่งอิสระภาพและหันมาขายแรงงานเพื่อรับเงินเดือนเป็นค่าครองชีพ ดังนั้นภายใต้ระบอบทุนนิยมจึงเหลือเพียงแต่ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นที่มีการพัฒนาต่อไปพร้อมๆ กับการเติบโตของระบบ การขยับขยายขึ้นของผลผลิตในสังคมทุนนิยม ยังได้กลายเป็นปัจจัยดึงดูดชนชั้นกรรมาชีพที่ขายแรงงานแลกกับเงินเข้าสู่โรงงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับการสูญสิ้นไปของแรงงานฝีมือแบบดั้งเดิมจากระบบการแบ่งงานกันทำ (division of labour) ส่วนผู้ใช้แรงงานเองก็ถูกทำให้กลายเป็นแค่ผู้ใช้งานเครื่องจักรโดยไม่จำเป็นต้องมีฝีมือ กระบวนการของระบอบ ทุนนิยมดังกล่าว ได้กลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้ชนชั้นกรรมาชีพตระหนักถึงความเป็นชนชั้น พร้อมๆ กับความสิ้นหวังต่อสภาวะการณ์ของตัวเอง [3]

การที่ชนชั้นกรรมาชีพต้องแข่งขันกับเครื่องจักรและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ได้ก่อเกิดภาวะไร้เสถียรภาพขึ้นในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและยังแผ่ขยายเข้าไปสู่เวทีการเมือง เช่นการเกิดสงครามกลางเมือง จนกระทั่งนำไปสู่การปฏิวัติ ซึ่งจะทำให้ชนชั้นแรงงานอันเป็นชนชั้นที่มีจำนวนมากที่สุดในสังคม สามารถเข้าครอบครองโรงงานและร้านค้าต่างๆ แทนที่ชนชั้นนายทุน โดยพวกเขาจะมุ่งสร้างประโยชน์ที่ไม่ใช่ผลกำไร แต่จะเป็นผลประโยชน์ที่กระจายออกไปทั่วถึงทั้งสังคม [4]

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งเป็นการล่มสลายของชนชั้นกระฎุมพีและการมีชนชั้นกรรมาชีพที่ได้รับการพัฒนาขึ้นแล้ว (Developed proletariat) มาร์กซ์ยังได้ระบุถึงรัฐชาติที่มีลักษณะรวมศูนย์และถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน (centralized, homogenized nation-state) มาร์กซ์บอกว่ารัฐชาติดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่ชนชั้นกระฎุมพีสร้างขึ้นเพื่อให้การเคลื่อนไหวของทุน แรงงานและสินค้า เป็นไปได้โดยง่ายทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเติบโตของตลาดและระบบการแบ่งงานกันทำ รัฐชาติรูปแบบนี้ถือได้ว่าเป็นการแสดงออกทางการเมือง (Political expression) ของชนชั้นกระฎุมพีผู้ครอบงำสังคม โดยมาร์กซ์ชี้ว่า ฝ่ายบริหารของรัฐก็คือ “คณะกรรมการจัดสรรผลประโยชน์ของพวกกระฎุมพี” (a committee for managing the affairs of the whole bourgeoisie) ส่วนอำนาจทางการเมือง (Political power) ก็คือ “พลังอำนาจที่ได้รับการจัดระบบอย่างดีของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเพื่อกดขี่ขูดรีดชนชั้นอื่นๆ” (the organized power of one class for oppressing another) ดังนั้น การปฏิวัติก็คือการแก่งแย่งอำนาจทางการเมืองของชนชั้นหนึ่งมาจากอีกชนชั้นหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นขั้นสูงสุดของกระบวนการทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ (historico-economic process) ที่ก่อให้เกิดชนชั้นผู้ครอบงำชนชั้นใหม่ขึ้น [5]

มาร์กซ์อธิบายว่าชนชั้นกรรมาชีพและกระฎุมพีมีพัฒนาการขึ้นพร้อมกันใน อาณาบริเวณภายนอกของความสัมพันธ์แบบศักดินาสวามิภักดิ์ (feudal relation) ซึ่งก็คือสังคมเมือง แต่ชนชั้นกรรมาชีพกลับไม่ได้เป็นชนชั้นครอบงำในระบบความสัมพันธ์ทางชนชั้นที่เกิดขึ้นใหม่ภายในสังคมทุนนิยมแม้ว่าจะมีจำนวนมากกว่าก็ตาม มาร์กซ์เชื่อว่า ชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพจะไม่ก่อให้เกิดระบบความสัมพันธ์ทางชนชั้นขึ้นใหม่ แต่กลับจะช่วยสร้างสังคมใหม่ที่ปราศจากชนชั้น (Classless Society) [6] มาร์กซ์ชี้ว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็น “ชนชั้นสากล” (universal class) ที่มีความสำนึกทางชนชั้น (class determination) ร่วมกัน โดยการปราศจากทรัพย์สินในครอบครองของชนชั้นกรรมาชีพ อันเป็นผลมาจากภาวะความลำบากยากจนภายใต้ระบอบทุนนิยม ได้กลายเป็นเหตุผลให้ชนชั้นนี้เป็นตัวแทนในการไถ่ถอนมนุษยชาติให้รอดพ้นจากการ ครอบงำทางชนชั้นได้ และเนื่องจากการแบ่งแยกทางชนชั้นเป็นผลโดยตรงมาจากการครอบครองทรัพย์สินส่วนบุคคล ดังนั้น สำหรับมาร์กซ์แล้ว การสร้างสังคมใหม่ที่มีฐานอยู่บนชนชั้นกรรมาชีพซึ่งเป็นชนชั้นที่ปราศจากทรัพย์สิน จึงน่าจะทำให้สังคมปลอดจากการแบ่งแยกทางชนชั้น ไม่เพียงเท่านั้นหากเป็นความจริงที่ว่า รัฐเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหรือถูกสร้างขึ้นเพื่อคงบทบาทของชนชั้นปกครอง การที่ไม่ปรากฏภาวะความเป็นปรปักษ์ทางชนชั้นภายในสังคมก็จะช่วยนำไปสู่การดับสูญของรัฐ (the withering away of the state) ด้วยเช่นกัน [7]

ในทฤษฎีทั่วไปว่าด้วยการปฏิวัติที่ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ของมาร์กซ์ ได้มีการสะท้อนทัศนคติของมาร์กซ์ต่อการจัดการกับรัฐ ประการแรก มาร์กซ์เห็นว่า การ ยึดครองอำนาจรัฐของชนชั้นกรรมาชีพจะเป็นหลักประกันได้ว่า ชนชั้นกรรมาชีพจะกลายมาเป็นชนชั้นครอบงำแทนที่ชนชั้นกระฎุมพี และประการที่สอง การทำลายล้างรัฐจะช่วยขจัดความ
เป็นปรปักษ์ทางชนชั้นที่เป็นผลโดยตรงมาจากการครอบครองสินทรัพย์ส่วนบุคคล [8] ภายใต้แนวคิดเช่นนี้ การปฏิวัติจึงเกี่ยวข้องกับระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ที่แบ่งแยกออกเป็นยุคสมัยซึ่งมีชนชั้นครอบงำที่แตกต่างและผันแปรไปตามวิถีการผลิต กล่าวคือ สังคมศักดินา (feudal) เป็นสังคมที่ เจ้าที่ดิน (landowner) เป็นชนชั้นครอบงำ และนายทุนก็เป็นชนชั้นครอบงำในสังคมทุนนิยม การเปลี่ยนแปลงจากยุคสมัยหนึ่งไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่งจึงเกิดขึ้นจากการที่ชนชั้นทางเศรษฐกิจ ชนชั้นใหม่สามารถยึดอำนาจทางการเมืองมาจากชนชั้นครอบงำเดิมมาได้อย่างหมดจรดสมบูรณ์ผ่านการปฏิวัติ [9] ชนชั้นแต่ละชนชั้นที่เข้าครอบครองจะมีการใช้รูปแบบทางการเมืองของตัวเอง คือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (monarchical absolutism) เป็นรูปแบบทางการเมืองของสังคมศักดินา ในขณะที่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) หรือระบอบ สาธารณรัฐแบบจำกัด (limited republicanism) ก็เป็นรูปแบบการปกครองของสังคมทุนนิยม

มาร์กซ์มักจะกล่าวถึงเสมอเกี่ยวกับระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ (fully democratic republic) และการปกครองระบอบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ (dictatorship of the proletariat) อันเป็นระบอบการปกครองที่เกิดขึ้นหลังจากชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพ แต่การสถาปนาระบอบการปกครองเช่นนี้ได้จะต้องคำนึงถึงโครงสร้างทางสังคมของรัฐด้วยเช่นกัน ดังเช่นกรณีของอังกฤษ ที่เศรษฐกิจทุนนิยมได้บรรลุภารกิจทางประวัติศาสตร์ในการเปลี่ยนมวลชนให้กลายเป็นแรงงานรับจ้าง (wage laborers) [10] มาร์กซ์มองว่าสังคมอังกฤษ เป็นสังคมที่ระบอบทุนนิยมที่มีการพัฒนาสูงสุดจนก่อให้เกิดการแบ่งแยกออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน (polarization) ระหว่างชนชั้นกระฎุมพีกับชนชั้นกรรมาชีพ ในขณะที่ชนชั้นชาวนา และช่างฝีมืออิสระล้วนแต่หายสาบสูญไป ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เป็นไปตามเงื่อนไขที่นำไปสู่การปฏิวัติตามทฤษฎีของมาร์กซ์ เมื่อเทียบกับระบอบทุนนิยมภายในรัฐอื่นๆ ของภูมิภาคยุโรปที่ยังไม่มีพัฒนาการมากเพียงพอ ส่วนสถานการณ์ทางชนชั้นก็ยังไม่มีความเป็นระบบระเบียบเพียงพอ.

วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

รัฐศาสตร์ เรียนอะไรกันบ้าง

            รัฐศาสตร์ เป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับกระบวนการแบ่งปัน และถ่ายโอนอำนาจในกระบวนการตัดสินใจ เมื่อเปรียบเทียบกับสาขาอื่นๆแล้ว รัฐศาสตร์ ถูกจัดว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราว และสถาบันที่เป็นสาธารณะ สาขานี้มักถูกแบ่งเป็นหลายๆด้าน เช่น รัฐศาสตร์ เปรียบเทียบ รัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ปรัชญาทางรัฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ระดับชาติ รวมไปถึงระเบียบวิจัย นอกจากนั้นยังเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องการบริการรัฐ การเมืองการปกครอง รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งการศึกษาวิชารัฐศาสตร์นั้น เป็นการศึกษาในลักษณะสหวิทยาการ กล่าวคือต้องอาศัยศาสตร์หลายๆศาสตร์เข้ามาประกอบเข้าด้วยกัน เพื่ออธิบายภาวะต่างๆทางสังคมที่เกิดขึ้น