มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554

ทฤษฎีการปฏิวัติแนวคลาสสิค (Classical Approach) ของคาร์ล มาร์กซ์

ทฤษฎีการปฏิวัติแนวคลาสสิค (Classical Approach) ของคาร์ล มาร์กซ์

ทฤษฏีว่าด้วยการปฏิวัติของมาร์กซ์อาจกล่าวได้ว่าเป็นทฤษฎีที่ทรงพลังและมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองโดยตรง เนื่องจากทฤษฎีของมาร์กซ์ได้เชื่อมโยงสาเหตุและผลที่ ติดตามมาของการปฏิวัติเข้ากับการก่อกำเนิดขึ้นและความได้เปรียบของลัทธิทุนนิยม อย่างไรก็ตาม วิถีการปฏิบัติของมาร์กซ์จะไม่ค่อยสอดคล้องกับบรรดานักวิชาการร่วมสมัย เพราะมาร์กซ์ไม่ได้มุ่งสร้างทฤษฎีทั่วไป (General theory) ว่าด้วยการปฏิวัติที่สามารถจะนำไปใช้ได้กับทุกสังคมทุกรูปแบบในทุกช่วงเวลา แต่ตรงกันข้าม มาร์กซ์กลับมองว่า การปฏิวัติเป็นปรากฏการณ์เฉพาะรูปแบบที่เกิดขึ้นในสภาวะแวดล้อมทางประวัติศาสตร์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง รวมทั้งรูปแบบสังคมหนึ่งๆ เท่านั้น [1]

ข้อสังเกตในทฤษฎีว่าด้วยการปฏิวัติของมาร์กซ์อีกประการคือ มาร์กซ์ ได้พัฒนาทฤษฎีโครงสร้างทางสังคม (Social-Structural theory) ที่โต้แย้งว่า ความเคลื่อนไหวที่มีการจัดการใดๆเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากการปฏิวัติ จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมี เหตุการณ์ของการปฏิวัติอย่างเป็นรูปธรรม (Objectively revolutionary situation) เกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งในโครงสร้างทางสังคมขนาดใหญ่และสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ ข้อสังเกตอีกประการคือ มาร์กซ์ให้ความสำคัญกับการครอบงำทางชนชั้น (class domination) สำหรับแนวคิดของเขาในส่วนที่ว่าด้วยระเบียบทางสังคม (social order) และความขัดแย้งทาง ชนชั้น (class conflict) ก็ยังถือเป็นหัวใจสำคัญที่กำหนดคุณลักษณะของการปฏิวัติ [2]

ทฤษฎีของมาร์กซ์ในส่วนที่ว่าด้วยการปฏิวัติ ถูกร่างไว้ในผลงานชิ้นสำคัญคือ “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” (The Communist Manifesto) มาร์กซ์บอกไว้ว่า การพัฒนา ผลิตผลในภาคอุตสาหกรรมได้ส่งผลให้ประชากรในสังคมอุตสาหกรรมแบ่งแยกออกเป็นสองชนชั้นหลักๆ คือชนชั้นกระฎุมพี (Bourgeoisie) กับชนชั้นกรรมาชีพ (Proletariat) ส่วนชนชั้นอื่นๆ นั้น จะเป็นชนชั้นที่หลงเหลือมาจากวิถีการผลิต (modes of production) ก่อนหน้าการพัฒนาสู่สังคมอุตสาหกรรม เช่น ชนชั้นชาวนา (Peasants) หรือมาจากช่วงเริ่มแรกของการพัฒนาสังคมสู่ระบอบทุนนิยม เช่น ช่างฝีมือ (craft artisans) หรือเจ้าของร้านค้าขนาดย่อม (small shopkeepers)

กลุ่มชนชั้นเหล่านี้ มีจุดร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพอย่างหนึ่งคือความขัดแย้งกับชนชั้นกระฎุมพีในเรื่องของความพยายามปกป้องหรือพลิกผันพัฒนาการทางเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูสถานะของพวกเขา เนื่องจากชนชั้นเหล่านี้ถูกทำลายลงด้วยกระบวนการแข่งขันและการทำงานในระบอบทุนนิยม ทั้งการถูกบังคับให้ต้องสละซึ่งอิสระภาพและหันมาขายแรงงานเพื่อรับเงินเดือนเป็นค่าครองชีพ ดังนั้นภายใต้ระบอบทุนนิยมจึงเหลือเพียงแต่ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นที่มีการพัฒนาต่อไปพร้อมๆ กับการเติบโตของระบบ การขยับขยายขึ้นของผลผลิตในสังคมทุนนิยม ยังได้กลายเป็นปัจจัยดึงดูดชนชั้นกรรมาชีพที่ขายแรงงานแลกกับเงินเข้าสู่โรงงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับการสูญสิ้นไปของแรงงานฝีมือแบบดั้งเดิมจากระบบการแบ่งงานกันทำ (division of labour) ส่วนผู้ใช้แรงงานเองก็ถูกทำให้กลายเป็นแค่ผู้ใช้งานเครื่องจักรโดยไม่จำเป็นต้องมีฝีมือ กระบวนการของระบอบ ทุนนิยมดังกล่าว ได้กลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้ชนชั้นกรรมาชีพตระหนักถึงความเป็นชนชั้น พร้อมๆ กับความสิ้นหวังต่อสภาวะการณ์ของตัวเอง [3]

การที่ชนชั้นกรรมาชีพต้องแข่งขันกับเครื่องจักรและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ได้ก่อเกิดภาวะไร้เสถียรภาพขึ้นในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและยังแผ่ขยายเข้าไปสู่เวทีการเมือง เช่นการเกิดสงครามกลางเมือง จนกระทั่งนำไปสู่การปฏิวัติ ซึ่งจะทำให้ชนชั้นแรงงานอันเป็นชนชั้นที่มีจำนวนมากที่สุดในสังคม สามารถเข้าครอบครองโรงงานและร้านค้าต่างๆ แทนที่ชนชั้นนายทุน โดยพวกเขาจะมุ่งสร้างประโยชน์ที่ไม่ใช่ผลกำไร แต่จะเป็นผลประโยชน์ที่กระจายออกไปทั่วถึงทั้งสังคม [4]

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งเป็นการล่มสลายของชนชั้นกระฎุมพีและการมีชนชั้นกรรมาชีพที่ได้รับการพัฒนาขึ้นแล้ว (Developed proletariat) มาร์กซ์ยังได้ระบุถึงรัฐชาติที่มีลักษณะรวมศูนย์และถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน (centralized, homogenized nation-state) มาร์กซ์บอกว่ารัฐชาติดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่ชนชั้นกระฎุมพีสร้างขึ้นเพื่อให้การเคลื่อนไหวของทุน แรงงานและสินค้า เป็นไปได้โดยง่ายทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเติบโตของตลาดและระบบการแบ่งงานกันทำ รัฐชาติรูปแบบนี้ถือได้ว่าเป็นการแสดงออกทางการเมือง (Political expression) ของชนชั้นกระฎุมพีผู้ครอบงำสังคม โดยมาร์กซ์ชี้ว่า ฝ่ายบริหารของรัฐก็คือ “คณะกรรมการจัดสรรผลประโยชน์ของพวกกระฎุมพี” (a committee for managing the affairs of the whole bourgeoisie) ส่วนอำนาจทางการเมือง (Political power) ก็คือ “พลังอำนาจที่ได้รับการจัดระบบอย่างดีของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเพื่อกดขี่ขูดรีดชนชั้นอื่นๆ” (the organized power of one class for oppressing another) ดังนั้น การปฏิวัติก็คือการแก่งแย่งอำนาจทางการเมืองของชนชั้นหนึ่งมาจากอีกชนชั้นหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นขั้นสูงสุดของกระบวนการทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ (historico-economic process) ที่ก่อให้เกิดชนชั้นผู้ครอบงำชนชั้นใหม่ขึ้น [5]

มาร์กซ์อธิบายว่าชนชั้นกรรมาชีพและกระฎุมพีมีพัฒนาการขึ้นพร้อมกันใน อาณาบริเวณภายนอกของความสัมพันธ์แบบศักดินาสวามิภักดิ์ (feudal relation) ซึ่งก็คือสังคมเมือง แต่ชนชั้นกรรมาชีพกลับไม่ได้เป็นชนชั้นครอบงำในระบบความสัมพันธ์ทางชนชั้นที่เกิดขึ้นใหม่ภายในสังคมทุนนิยมแม้ว่าจะมีจำนวนมากกว่าก็ตาม มาร์กซ์เชื่อว่า ชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพจะไม่ก่อให้เกิดระบบความสัมพันธ์ทางชนชั้นขึ้นใหม่ แต่กลับจะช่วยสร้างสังคมใหม่ที่ปราศจากชนชั้น (Classless Society) [6] มาร์กซ์ชี้ว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็น “ชนชั้นสากล” (universal class) ที่มีความสำนึกทางชนชั้น (class determination) ร่วมกัน โดยการปราศจากทรัพย์สินในครอบครองของชนชั้นกรรมาชีพ อันเป็นผลมาจากภาวะความลำบากยากจนภายใต้ระบอบทุนนิยม ได้กลายเป็นเหตุผลให้ชนชั้นนี้เป็นตัวแทนในการไถ่ถอนมนุษยชาติให้รอดพ้นจากการ ครอบงำทางชนชั้นได้ และเนื่องจากการแบ่งแยกทางชนชั้นเป็นผลโดยตรงมาจากการครอบครองทรัพย์สินส่วนบุคคล ดังนั้น สำหรับมาร์กซ์แล้ว การสร้างสังคมใหม่ที่มีฐานอยู่บนชนชั้นกรรมาชีพซึ่งเป็นชนชั้นที่ปราศจากทรัพย์สิน จึงน่าจะทำให้สังคมปลอดจากการแบ่งแยกทางชนชั้น ไม่เพียงเท่านั้นหากเป็นความจริงที่ว่า รัฐเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหรือถูกสร้างขึ้นเพื่อคงบทบาทของชนชั้นปกครอง การที่ไม่ปรากฏภาวะความเป็นปรปักษ์ทางชนชั้นภายในสังคมก็จะช่วยนำไปสู่การดับสูญของรัฐ (the withering away of the state) ด้วยเช่นกัน [7]

ในทฤษฎีทั่วไปว่าด้วยการปฏิวัติที่ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ของมาร์กซ์ ได้มีการสะท้อนทัศนคติของมาร์กซ์ต่อการจัดการกับรัฐ ประการแรก มาร์กซ์เห็นว่า การ ยึดครองอำนาจรัฐของชนชั้นกรรมาชีพจะเป็นหลักประกันได้ว่า ชนชั้นกรรมาชีพจะกลายมาเป็นชนชั้นครอบงำแทนที่ชนชั้นกระฎุมพี และประการที่สอง การทำลายล้างรัฐจะช่วยขจัดความ
เป็นปรปักษ์ทางชนชั้นที่เป็นผลโดยตรงมาจากการครอบครองสินทรัพย์ส่วนบุคคล [8] ภายใต้แนวคิดเช่นนี้ การปฏิวัติจึงเกี่ยวข้องกับระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ที่แบ่งแยกออกเป็นยุคสมัยซึ่งมีชนชั้นครอบงำที่แตกต่างและผันแปรไปตามวิถีการผลิต กล่าวคือ สังคมศักดินา (feudal) เป็นสังคมที่ เจ้าที่ดิน (landowner) เป็นชนชั้นครอบงำ และนายทุนก็เป็นชนชั้นครอบงำในสังคมทุนนิยม การเปลี่ยนแปลงจากยุคสมัยหนึ่งไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่งจึงเกิดขึ้นจากการที่ชนชั้นทางเศรษฐกิจ ชนชั้นใหม่สามารถยึดอำนาจทางการเมืองมาจากชนชั้นครอบงำเดิมมาได้อย่างหมดจรดสมบูรณ์ผ่านการปฏิวัติ [9] ชนชั้นแต่ละชนชั้นที่เข้าครอบครองจะมีการใช้รูปแบบทางการเมืองของตัวเอง คือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (monarchical absolutism) เป็นรูปแบบทางการเมืองของสังคมศักดินา ในขณะที่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) หรือระบอบ สาธารณรัฐแบบจำกัด (limited republicanism) ก็เป็นรูปแบบการปกครองของสังคมทุนนิยม

มาร์กซ์มักจะกล่าวถึงเสมอเกี่ยวกับระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ (fully democratic republic) และการปกครองระบอบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ (dictatorship of the proletariat) อันเป็นระบอบการปกครองที่เกิดขึ้นหลังจากชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพ แต่การสถาปนาระบอบการปกครองเช่นนี้ได้จะต้องคำนึงถึงโครงสร้างทางสังคมของรัฐด้วยเช่นกัน ดังเช่นกรณีของอังกฤษ ที่เศรษฐกิจทุนนิยมได้บรรลุภารกิจทางประวัติศาสตร์ในการเปลี่ยนมวลชนให้กลายเป็นแรงงานรับจ้าง (wage laborers) [10] มาร์กซ์มองว่าสังคมอังกฤษ เป็นสังคมที่ระบอบทุนนิยมที่มีการพัฒนาสูงสุดจนก่อให้เกิดการแบ่งแยกออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน (polarization) ระหว่างชนชั้นกระฎุมพีกับชนชั้นกรรมาชีพ ในขณะที่ชนชั้นชาวนา และช่างฝีมืออิสระล้วนแต่หายสาบสูญไป ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เป็นไปตามเงื่อนไขที่นำไปสู่การปฏิวัติตามทฤษฎีของมาร์กซ์ เมื่อเทียบกับระบอบทุนนิยมภายในรัฐอื่นๆ ของภูมิภาคยุโรปที่ยังไม่มีพัฒนาการมากเพียงพอ ส่วนสถานการณ์ทางชนชั้นก็ยังไม่มีความเป็นระบบระเบียบเพียงพอ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น