มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

ประวัติการศึกษารัฐศาสตร์ของไทย

ประวัติการศึกษารัฐศาสตร์ของไทย

     การศึกษาด้านรัฐศาสตร์ของไทยเริ่มต้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริจัดตั้ง โรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน เพื่อรับคัดเลือกนักเรียนเข้ามาฝึกหัดเป็นข้าราชการตามกระทรวงต่างๆ ต่อมาได้มีการขยายการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพัฒนาโรงเรียนดังกล่าวเป็น โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งภายหลังได้สถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


     จากเหตุดังกล่าวนี้ การศึกษารัฐศาสตร์จึงเริ่มต้นขึ้น โดยคณะรัฐศาสตร์แห่งแรก  คือ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือ สิงห์ดำ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา   รัฐศาสตร์ของไทย แห่งที่สอง คือ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือ สิงห์แดง  ส่วนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือสิงห์ทองของเรานั้น ในช่วงแรกเป็นสาขาวิชารัฐศาสตร์ในคณะนิติศาสตร์ ต่อมาภายหลังจึงแยกออกมาเป็นคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อย่างเต็มภาคถูมิ


คำว่า รัฐศาสตร์



     คำว่ารัฐศาสตร์ หากพิจารณาโดยแยกศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้ว่า “POLITICAL SCIENCE” เพื่อกำหนดความหมายพื้นฐานของรัฐศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่า “POLITICS” ซึ่งหมายความว่า การเมือง นั้น มีรากศัพท์มาจากคำว่า “polis” ในภาษากรีก หมายถึงนครรัฐ เป็นการจัดองค์กรทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่ได้บังเกิดขึ้นมาหลายพันปีแล้ว ในขณะที่ “SCIENCE” ก็คือศาสตร์ หรือวิชาในการแสวงหาความรู้ รัฐศาสตร์ตามรากศัพท์นี้ จึงเป็นวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการกระทำหรือการสร้างบ้านเมือง หรือการสถาปนาชุมชน/เมืองขนาดใหญ่ ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้คนใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วยความสันติสุข


      นักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้ที่ได้ให้ความหมายของคำว่ารัฐศาสตร์ที่น่าสนใจพึงกล่าวถึงได้แก่ ยูเลา (Heinz Eulau 1963, 3) ซึ่งกล่าวว่า รัฐศาสตร์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาว่าทำไมมนุษย์จึงคิดสร้างการปกครองมนุษย์ขึ้นมา


      เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ (2508, 1-3) ให้นิยามของรัฐศาสตร์ว่าเป็น ศาสตร์ที่ว่าด้วยรัฐ (Science of the state) โดยเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับรัฐ วิวัฒนาการของรัฐ และรัฐในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เกี่ยวกับองค์การปกครองหรือสถาบันทางการเมืองของรัฐ และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เกี่ยวกับการติดต่อสัมพันธ์ของเอกชนหรือกลุ่มชนกับรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ ตลอดจนจนแนวการศึกษาความคิดทางการเมืองอันมีอิทธิพลมหาศาลต่อความคิดของนักการเมืองเอกของโลก และต่อวิวัฒนาการของรัฐและการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองการปกครอง ในทำนองเดียวกัน จรูญ สุภาพ (2522, 1) ได้นิยามรัฐศาสตร์ว่าเป็น สาขาขององค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ (Social Science) ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับรัฐ ซึ่งกล่าวถึงแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง การจัดองค์กรทางการเมืองการปกครอง รัฐบาลหรือผู้ใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง และวิธีรดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐ โดยความหมายดังนี้ รัฐศาสตร์ จึงเป็นเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับ 3 สิ่งคือ รัฐ สถาบันทางการเมืองการปกครอง และแนวความคิดทางการเมืองการปกครอง


     มองลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับขอบข่ายเนื้อหาของการศึกษารัฐศาสตร์ เราจะได้นิยามความหมายของรัฐศาสตร์ว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการปกครองและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำเนิด การรวม การเปลี่ยนแปลง และความเสื่อมของชุมชนการเมืองทั้งหลาย ตอลดจนรูปแบบของการปกครอง กฎเกณฑ์และการปฏิบัติที่ชุมชนต่าง ๆ แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือทำการตัดสินใจ รวมทั้งนโยบายต่าง ๆ ที่ต่อกัน โดยเรื่องสำคัญ ๆ ที่ศึกษาได้แก่เรื่องความรุนแรง การปฏิวัติ การสงคราม ความสงบเรียบร้อย การปกครองแบบประชาธิปไตยและแบบเผด็จการ การเลือกตั้ง การบริหาร หน้าที่พลเมือง การสรรหาผู้นำ ความปลอดภัยของชาติกับองค์การระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ กระบวนการยุติธรรม พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์กับพฤติกรรมทางการเมือง การกำหนดนโยบายสาธารณะ อุดมการณ์ทางการเมือง รวมทั้งความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของฝูงชน (Eulau and March 1975, 5)


     สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ (เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ 2508, 10) เห็นว่า รัฐศาสตร์คือ การศึกษาเกี่ยวกับรัฐ และวิธีการอันเหมาะสมที่สุด ในอันที่จะปฏิบัติตามวิชาการที่เกี่ยวกับรัฐ ขอบเขตของวิชารัฐศาสตร์จึงรวมถึงส่วนประกอบทุกส่วนในความสัมพันธ์ภายในและภายนอกรัฐ


     ทินพันธ์ นาคะตะ (2541, 3) อธิบายว่า รัฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งสำคัญ ต่าง ๆ ประกอบด้วย กำเนิดและลักษณะของรัฐ สถาบันการเมืองการปกครอง อำนาจ การตัดสินตกลงใจและนโยบายสาธารณะ ระบบการเมือง รวมทั้งการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความรู้ความเข้าใจ และหาคำอธิบายต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ บังเกิดขึ้น


     รัฐศาสตร์ในเชิงที่เป็นระเบียบการปกครอง อันแตกต่างไปจากคำว่า “การปกครอง” ที่หมายถึง ตัวกิจการที่ปฏิบัติ รัฐศาสตร์ในประการนี้จึงหมายความถึง ระบบของการปฏิบัติปกครอง โดยการจัดมาตรฐานและระเบียบภายในประชาคม (society) (เกษม อุทยานิน 2513, ข) ซึ่งเป็นวิชาหนึ่งในสาขาสังคมศาสตร์ ที่เป็นวิชาใหญ่ในบรรดาวิชาการว่าด้วยสังคมมนุษย์ (เกษม อุทยานิน 2513, ก)


     ความหมายของรัฐศาสตร์ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นศาสตร์ที่มีขอบเขตกว้างขวางของรัฐศาสตร์ ซึ่งผู้เรียบเรียงขอสรุปความหมายของรัฐศาสตร์โดยยึดความหมายดังที่ อานนท์ อาภาภิรม (2545, 2) ได้สรุปให้เห็นไว้ว่า รัฐศาสตร์เป็นการศึกษาเกี่ยวกับที่มาและพัฒนาการของรัฐ (Origin and Development of the State )การอธิบาย การวิเคราะห์และการเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญและรัฐบาล กระบวนการทางการเมือง (Political Process) ระบบกฎหมาย (Law System) บทบัญญัติของรัฐที่ใช้บังคับต่อปัจเจกชน (Individual) และกลุ่มคน (Groups) รวมไปถึงการศึกษาถึงองค์การและกิจกรรมของพรรคการเมือง (Political Parties) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและอุดมการณ์ระหว่างรัฐ การบัญญัติและการควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐโดยวิธีการของกฎหมายระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ (International Organization) การกล่าวถึงนัยยะความหมายของการศึกษาวิชารัฐศาสตร์อันมีคุณลักษณะในตัวที่เป็นแนวทางการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์เช่นนี้ นอกจากจะช่วยให้เห็นภาพส่วนประกอบของรัฐศาสตร์แล้ว ยังเป็นการปูพื้นฐานแก่ผู้ศึกษาที่จะทำความเข้าใจถึงขอบเขตของการศึกษา และโยงใยไปถึงแนวการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น